|
|
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร |
|
อยู่ที่ถนนพระปกเกล้า วัดนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่พอดี ประดิษฐานเจดีย์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าแสนเมืองมากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ.1913-1954) ต่อมาพระยาติโลกราชโปรดให้ช่างขยายเจดีย์ให้สูงและกว้างกว่าเดิม แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2024 และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานระหว่าง พ.ศ.2011-2091 นานถึง 80 ปี ต่อมาในสมัยพระนางจิระประภา ได้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ. 2088 ทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง ปัจจุบันเจดีย์มีความสูงคงเหลือ 40.8 เมตร ฐานกว้างด้านละ 60 เมตร
วิหารหลวงของวัดนี้เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 หน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยงดงามยิ่ง ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยที่สุด ของภาคเหนือ
และในวัดเจีย์หลวงนี้ยังมี เสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1839 ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็กๆ เสาอินทขิลนี้สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน ทุกปีในวันแรม 12 ค่ำเดือน 8 (เหนือ) หรือประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีงานเรียกว่า เข้าอินทขิล เป็นการฉลองหลักเมือง |
|
|
|
วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร |
|
เดินทางตามถนนห้วยแก้ว ผ่านอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ไปตามทางคดเคี้ยวขึ้นเขา ระหว่างทางจะมองเห็นตัวเมืองเชียงใหม่อยู่เบื้องล่าง ระยะทางจากเชิงดอยถึงวัดประมาณ 11 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง วัดพระธาตุดอยสุเทพนี้เป็นปูชนียสถานคู่เมืองเชียงใหม่นับตั้งแต่โบราณกาล นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมาที่จังหวัดนี้จะต้องขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุกัน ทุกคน ถ้าหากใครไม่ได้ขึ้นไปนมัสการแล้ว ถือเสมือนว่ายังมาไม่ถึงเชียงใหม่ |
|
|
|
วัดพระสิงห์วรวิหาร |
อยู่ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญในประวัติศาสตร์แห่งแผ่นดินล้านนามานับแต่อดีต พญาผายูกษัตริย์องค์ที่ 5 ในราชวงศ์มังรายโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้น ในปีพ.ศ. 1888 พร้อมทั้งสร้างพระเจดีย์สูง 24 ศอกองค์หนึ่ง เพื่อใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา มีพระพุทธรูปที่สำคัญอยู่องค์หนึ่งคือพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปปาง มารวิชัยขัดสมาธิเพชร
ตามประวัติของพระพุทธสิหิงส์นั้นเล่าไว้ว่า พระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์เม็งราย ผู้ครองนครเชียงใหม่ ทรงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงรายเพื่อไปประดิษฐานไว้ยัง วัดสวนดอก แต่พอราชรถมาถึงวัดลีเชียง ก็ปรากฎว่าติดขัดไม่สามารถเดินทางต่อไปได้อีก ดังนั้นพระเจ้าแสนเมืองมาจึงให้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่วัดลีเชียงนี้ ประชาชนนิยมเรียกพระพุทธสิงหิงค์สั้น ๆ ว่า พระสิงห์ จึงได้เรียกชื่อวัดพระสิงห์
เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้แห่ไปตามถนนรอบ เมืองเพื่อให้ประชาชนสรงน้ำโดยทั่วกัน ในวิหารลายคำซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ยังมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง สุพรรณหงส์ และสังข์ทองซึ่งพบเพียงที่นี่แห่งเดียว ยังมีศิลปกรรมอื่นๆ ที่น่าชม ได้แก่ พระอุโบสถตกแต่งแบบศิลปะล้านนา หอไตรประดับด้วยรูปปูนปั้นเทวดา และเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา
ความเชื่อและวิธีการบูชา พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีมะโรง (งูใหญ่) หากได้มานมัสการอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งแล้ว จะเป็นมงคลสูงสุดทำให้อายุมั่นขวัญยืน มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป |
|
|
|
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร |
|
จากตัวเมืองเชียงใหม่มุ่งหน้าไปตามถนนสายเชียงใหม่-ฮอด 58 กิโลเมตร เป็นวัดสำคัญคู่เมืองจอมทองและเป็นที่เคารพสักการะของชาวเหนือโดยทั่วไป ประเพณีเด่นของวัดคือ การแห่ไม้ค้ำโพธิ์ ซึ่งเป็นประเพณีของชาวล้านนาที่ถือว่าการเอาไม้มาค้ำโพธิ์เป็นการสืบทอดพระ พุทธศาสนา |
|
|
|
วัดสวนดอก หรือวัดบุปผาราม |
ตั้งอยู่ที่ถนนสุเทพ ในเขตอำเภอเมือง พญากือนาทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเกตุ) เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระมหาเถระสุมน ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในล้านนา วัดนี้แต่เดิมเป็นพระราชอุทยานของกษัตริย์ล้านนาไทยสมัยแรกเริ่ม มีสถาปัตยกรรมสำคัญ คือ เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงกลม กู่บรรจุอัฐิเจ้าตระกูล ณ เชียงใหม่ และวิหารโถง นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าเก้าตื้อ ซึ่งพญาเมืองแก้วโปรดให้หล่อขึ้น เป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ศิลปะล้านนาผสมกับศิลปะสุโขทัย |
|
|
|
วัดเจ็ดยอด |
วัดเจ็ดยอด ตั้งอยู่บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์(เชียงใหม่-ลำปาง) ห่างจากตัวเมือง 4 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2020 โดยพระเจ้าติโลกราชกษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งราย
เจดีย์เจ็ดยอด ลักษณะคล้ายกับมหาวิหารโพธิที่พุทธคยาในประเทศอินเดีย ที่ฐานเจดีย์ประดับปูนปั้นรูปเทวดา ด้านนอกพระเจดีย์ก็เช่นกันประดับงานปูนปั้นรูปเทวดาทั้งนั่งขัดสมาธิและยืน ทรงเครื่องที่มีลวดลายต่างกันไปดูงามน่าชม สถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช เมื่อพระเจ้าติโลกราชสวรรคตในปี พ.ศ.2030 พระยอดเชียงราย ราชนัดดาได้สืบราชสมบัติแทน และโปรดให้สร้างสถูปใหญ่บรรจุอัฐิของพระอัยกาธิราช และ สัตตมหาสถาน คือสถานที่สำคัญในพุทธประวัติเจ็ดแห่ง ได้แก่ โพธิบัลลังก์ อนิมิตเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ อชปาลนิโครธเจดีย์ ราชายตนเจดีย์ ปัจจุบันเหลืออยู่ที่วัดเจ็ดยอดเพียงสามแห่ง คือ อนิมิตเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ มุจจลินทเจดีย์
ที่วัดนี้เป็นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ ในรัชสมัยพระยาติโลกราช พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ทรงสนับสนุนคณะสงฆ์นิกายสิงหล (ลังกาวงศ์) ทรงส่งเสริมการเล่าเรียนทางด้านปริยัติธรรม ทำให้ภิกษุล้านนามีความเชี่ยวชาญภาษาบาลี และในปีพ.ศ. 2020 โปรดให้ประชุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่เพื่อชำระพระไตรปิฎก ณ วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอดในปัจจุบัน) ใช้เวลา 1 ปีจึงเสร็จ นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก เป็นครั้งแรกของไทย และถือเป็นหลักปฏิบัติของสงฆ์ในล้านนา |
|
|
|
อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย |
ตั้งอยู่ตรงทางขึ้นดอยสุเทพ ก่อนถึงน้ำตกห้วยแก้ว ครูบาศรีวิชัยเป็นนักบุญแห่งล้านนาไทยผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเชียงใหม่ และประชาชนโดยทั่วไป ผู้ที่จะขึ้นไปดอยสุเทพมักจะแวะนมัสการอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยเพื่อความ เป็นสวัสดิมงคล ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ริเริ่มชักชวนให้ประชาชนชาวเหนือร่วมแรงร่วมใจกันสร้าง ถนนจากเชิงดอยขึ้นไปสู่วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ โดยเริ่มลงมือ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 และแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2478 รวมระยะทางจากเชิงดอยไปถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ 10 กิโลเมตร นอกจากนี้ผู้ที่สนใจตักบาตรยามเช้าที่เชียงใหม่ที่มีพระภิกษุเดินเป็นสายนับ ร้อยรูป สามารถมาที่เชิงดอยสุเทพ บริเวณลานครูบาศรีวิชัย ที่นี่จะมีพ่อค้าแม่ค้านำอาหารและน้ำให้บริการถึงที่ โดยผู้แสวงบุญไม่ต้องเตรียมของสำหรับใส่บาตรเลย พระภิกษุจำนวนมากนี้ เป็นพระเณรจากวัดศรีโสดา ซึ่งเป็นวัดที่ชาวเขานิยมมาบวชเรียนจำนวนมาก ผู้มาใส่บาตรควรแต่งกายสุภาพ
|
|
|
|
วัดอุโมงค์ |
|
ตั้งอยู่ที่ถนนสุเทพ อำเภอเมือง หากไปจากตลาดต้นพยอม วิ่งผ่านสี่แยกคลองชลประทานด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประมาณ 500 เมตร เข้าซอยทางด้านซ้ายมือไปประมาณ 2 กิโลเมตร
วัดอุโมงค์สร้างขึ้นในสมัยพญามังรายราวปี พ.ศ. 1839 เพื่อให้ฝ่ายอรัญวาสีจำพรรษา ต่อมาพญากือนา ทรงสร้างอุโมงค์ขึ้นเพื่อให้พระมหาเถระจันทร์ใช้เป็นที่วิปัสสนากรรมฐาน อุโมงค์นี้มีลักษณะเป็นกำแพงภายในเป็นทางเดินหลายช่องทะลุกันได้ ภายในอุโมงค์เคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง สันนิษฐานว่าวาดในระหว่าง พ.ศ.1900-2000 แต่เดิมคงเป็นภาพจิตรกรรมเต็มบริเวณของทุกห้อง ส่วนใหญ่เป็นภาพดอกบัว ดอกโบตั๋น และ นกต่างๆ เช่น นกยูง นกกระสา นกแก้ว และนกเป็ดน้ำ
ด้านบนอุโมงค์เป็นเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่ของล้านนา นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าสร้างประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีชั้นทรงกลมประมาณ 3 ชั้นเหมือนกลีบบัวซ้อนกันอยู่ ด้านบนมีปลียอด
ด้านหน้าอุโมงค์มีเศียรพระพุทธรูปหินสลักสกุลช่างพะเยา พ.ศ.1950-2100 บริเวณวัดเป็นสวนพุทธธรรม ร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ เป็นสวนป่าที่เหมาะกับการนั่งวิปัสสนา ด้านหลังเป็นสวนป่าและสวนสัตว์ซึ่งเป็นเขตอภัยทาน เดินเล่นได้ และเป็นสถานที่ดูนกที่ดีอีกแห่งหนึ่ง |
|
|
|
|
วัดช่างฆ้อง |
|
ตั้งอยู่ที่ถนนลอยเคราะห์ ติดกับถนนกำแพงดิน จากประตูท่าแพเลี้ยวซ้ายเข้าถนนคชสาร และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนลอยเคราะห์ พบสี่แยกแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนกำแพงดิน วัดอยู่ทางด้านซ้ายมือ วัดช่างฆ้องสร้างเมื่อ พ.ศ.1900 ชาวบ้านช่างฆ้องที่อพยพมาจากเชียงแสนราวต้นรัตนโกสินทร์เป็นผู้สร้างขึ้น ภายในวัดมีหอไตรซึ่งเป็นตึกสองชั้นตกแต่งด้วยลายปูนปั้นและไม้ฉลุ เป็นศิลปะผสมระหว่างจีนและพม่า ด้านนอกอาคารมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเจ้าสิบชาติฝีมือช่างพื้นบ้าน ซึ่งยังคงสมบูรณ์อยู่ |
|
|